เรียบเรียงโดย Joh Burut

 

 

เมื่อปี-สองปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่า กระแสของ Honda มาแรงจริงๆ เริ่มตั้งแต่การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Acura NSX ซึ่งกลับมาพร้อมกับเครื่องยนต์เบนซิน-ไฮบริด V6 ทวินเทอร์โบ ให้กำลังมากกว่า550-แรงม้า และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็มีข่าวแว่วๆ ว่า Honda กำลังจะคืนชีพให้กับ Honda NSX Type R เพื่อมาเป็นหัวหน้าฝูงของเหล่า Honda เฮช-แดง พร้อมทั้งเป็นการช่วยเสริมภาพลักษณ์ด้านมอเตอร์สปอร์ตให้กับ Honda ซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ที่มีสายเลือดเรซซิ่งอย่างเต็มเปี่ยม

และเมื่อปลายปีที่แล้วCivic Type R ก็ได้เปิดตัวและประกาศที่จะกลับมาทวงบัลลังก์รถขับเคลื่อนล้อหน้า ด้วยเครื่องยนต์อันทรงพลัง 2.0-ลิตร VTEC เทอร์โบชาร์จเจอร์

บทความแนะนำ -เปิดตำนาน Type R : จากพันหก-รอบจัด สู่ สองพัน-เทอร์โบ

 

นอกจากนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวลือออกมาว่า Honda กำลังซุ่มพัฒนา S2000 ตัวใหม่ล่าสุด เพื่อกลับมาสู้ศึกในสังเวียน รถสปอร์ต-ขับหลัง อีกครั้ง!

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว Honda S2000 ถือเป็นรถสปอร์ตขับหลังที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด มันเป็นรถที่ขับสนุกอย่างที่รถสปอร์ตควรจะเป็น หลายๆสำนักรีวิวรถยนต์จากต่างประเทศต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า S2000 คือนิยามของคำว่า เพียว-สปอร์ตคาร์ (Pure Sportcar)

เพราะฉะนั้น ในบทความนี้ ผมจึงเรียบเรียงเหตุผลทั้งหมด 5 ข้อ ที่ทำให้รถยนต์เปิดประทุนสัญชาติญี่ปุ่นคันนี้ กลายหนึ่งในรถสปอร์ต-ขับหลัง ที่ดีสุดเท่าที่โลกเคยมีมา...

 

1. Honda S2000 เป็นหนึ่งในรถตระกูล S-Series

หลายคนอาจจะคิดว่า Honda S2000 เป็นรถสปอร์ต-ขับหลัง เพียงคันเดียวของ Honda แต่เชื่อไหมว่า S2000 คันนี้มีเป็นหนึ่งในสมาชิกของตระกูลรถสปอร์ต ซึ่งเรียกว่า Honda S-series โดยสมาชิกของตระกูลนี้จะมีตัวอักษร S นำหน้าชื่อรุ่น และตัวเลขที่ตามหลังตัวอักษรจะบ่งบอกถึงความจุของเครื่องยนต์ (มีหน่วยเป็น ซีซี)

นำทีมโดยคุณปู่อย่าง S360 เปิดตัวในปี 1962 ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ที่ Honda ได้เปิดตัวในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ (เมื่อก่อนผลิตแต่มอเตอร์ไซด์) หลังจากนั้นเพียง 1 ปี Honda S500 ก็ถูกเปิดตัวในปี 1963

Honda S360 และ Honda S500

และในปี 1964 Honda ก็ได้เปิดตัว S600 ซึ่งเป็นรถรุ่นแรกที่ได้มีเพิ่มรุ่นพวงมาลัยซ้ายเพื่อส่งไปขายยังประเทศยุโรป ถัดจากนั้นก็เป็น S800 ซึ่งเปิดตัวในปี 1965

Honda S600 และ Honda S800

และหลังจากตระกูล S-Series หายเงียบเข้ากลีบเมฆนานถึง 30 ปี ก็ถึงคราวแจ้งเกิดของพระเอกของเราในวันนี้ นั่นก็คือ Honda S2000 ถูกเปิดตัวเมื่อต้นปี 1999 ในฐานนะรถสปอร์ต-เครื่องวางหน้า-ขับเคลื่อนล้อหลัง และหลังจากสร้างชื่อเสียงให้กับ Honda มานานถึง 10 ปี มันก็ได้ปิดไลน์การผลิตอย่างน่าเสียดายในปี 2009

Honda S2000 (AP1 1999-2003)

 

Honda S2000 (AP2 2004-2009)

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา Honda ก็ได้เปิดตัว Honda S660 ซึ่งเป็นน้องเล็กคนสุดท้องแห่งตระกูล Honda S-series ซึ่งเป็นรถสปอร์ตขนาดจิ๋ว เครื่องยนต์วางกลางลำ-ขับเคลื่อนล้อหลัง มาพร้อมกับน้ำหนักเบาหวิวเพียงแค่ 830 กิโลกรัมเท่านั้นเอง

Honda S660

 

2. Honda S2000 สามารถลากรอบได้ถึง 9000RPM!!

ด้วยความที่ว่า Honda เป็นค่ายรถยนต์โตมากับรถมอเตอร์ไซด์ มรดกในด้านเทคโนโลยี เครื่องยนต์รอบจัด ของรถสองล้อ จึงถูกส่งต่อมายังรถยนต์สี่ล้ออย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแคมเดี่ยวอย่าง D-series ที่อยู่ใน Honda Civic หรือแคมคู่อย่าง K-series ที่อยู่ใน Honda Integra ก็สามารถหมุนด้วยรอบเครื่องที่สูงลิบลิ่ว ราวกับว่าเป็นเครื่องยนต์ของมอเตอร์ไซด์ และแน่นอนว่าเครื่อง F-Series ที่อยู่ใน S2000 ก็มีเรดไลน์ที่สูงชวนเสียวไม่แพ้กัน

Honda S2000 รุ่นแรก (AP1 1999-2003) มาพร้อมกับเครื่องยนต์สี่กระบอกสูบ แคมคู่ DOHC-VTEC รหัส-F20C มีเรดไลน์สูงถึง 8,800 RPM และรอบตัดที่ 9,000 RPM!! นั่นทำให้ S2000 กลายเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ รอบจัด ที่สุดในยุคนั้น

สำหรับ Honda S2000 รุ่นที่ 2 นั้น (AP2 2004-2009) ถูกเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น F22C1 ความจุ 2.2-ลิตร (ความจริงแล้วมีความจุแค่ 2,157cc) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเพิ่มแรงบิดซึ่งเป็นจุดด้อยของเครื่องยนต์ F20C ส่วนแรงม้าที่ได้นั้น เพิ่มขึ้นมาแค่เพียงนิดหน่อย แต่แรงบิดนั้นกระโดดขึ้นมาอย่างชัดเจนถึง 6% ในขณะเดียวกัน เรดไลน์ก็ถูกลดลงเหลือ 8,000 RPM และรอบตัดที่ 8,200 RPM แต่ก็ยังถือว่ารอบสูงอยู่ดีนะ...สำหรับเครื่องช่วงชักยาวอย่าง 2.2-ลิตร

 

3. Honda S2000 (เคย) เป็นรถที่มี แรงม้าสัมพัทธ์ เยอะที่สุดในโลก

เอาล่ะ ก่อนอื่นผมคงต้องอธิบายคำว่า แรงม้าสัมพัทธ์ เพื่อให้เข้าใจตรงกันก่อนนะครับ แรงม้าสัมพัทธ์ หรือ กำลังสัมพัทธ์ (Specific Horsepower หรือ Specific Output) เป็นตัวเลขที่บ่งชี้ กำลัง ที่เครื่องยนต์สร้างได้ต่อหน่วยหนึ่งความจุ ซึ่งปกติแล้วจะมีหน่วยเป็น แรงม้า ต่อ ลิตร

Honda S2000 รุ่นแรก (AP1) มาพร้อมกับเครื่องยนต์ F20C ความจุ 2.0-ลิตร ไร้ซึ่งระบบอัดอากาศแต่สามารถสร้างแรงม้าได้ 240 แรงม้า!! เพราะฉะนั้นจึงมีค่า แรงม้าสัมพัทธ์ เท่ากับ 120 แรงม้าต่อลิตร ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในโลก!!

หลังจากนั้นให้หลังประมาณ 10 ปี ตำแหน่งแชมป์ของเครื่องยนต์ที่มี แรงม้าสัมพัทธ์ มากที่สุด ก็ถูกเปลี่ยนมือไปให้กับค่ายรถยนต์ซุปเปอร์คาร์จากอิตาลีอย่าง Ferrari โดยรถที่มาแย่งตำแหน่งจาก S2000 นั้น ก็คือ Ferrari 458 Italia ที่มาพร้อมกับเครื่องยนต์ V8 ความจุ 4.5-ลิตร สร้างแรงม้าได้ 562-แรงม้า ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นแรงม้าสัมพัทธ์ จะมีค่าเท่ากับ 124.8 แรงม้า*

(*อ้างอิงจาก jdmspecengines)

 

4. Honda S2000 มีการกระจายน้ำหนักหน้า-หลัง 50:50

การกระจายน้ำหนักแบบ 50:50 คือ การที่รถยนต์มีน้ำหนักกระทำที่ล้อคู่หน้า 50% ของน้ำหนักตัวรถ และมีน้ำหนักกระทำที่ล้อคู่หลัง 50% เช่นเดียวกัน และในกรณีของ Honda S2000 (มีน้ำหนักรวม 1,274 กิโลกรัม) ซึ่งถูกออกแบบให้มีการกระจายน้ำหนักแบบ 50:50 ทำให้มีน้ำหนักลงที่ล้อหน้าเท่ากับ 637 กิโลกรัม และน้ำหนักลงที่ล้อหลังก็เท่ากัน นั่นก็คือ 637 กิโลกรัม

แล้วกระจายน้ำหนักแบบ 50:50 มันดียังไง

แน่นอนว่าเมื่อน้ำหนักด้านหน้าและด้านหลังเท่ากันแล้ว ความสมดุล มันก็จะบังเกิด และความสมดุลนี้เอง ที่ส่งผลให้ตัวรถมีความเสถียรและตอบสนองได้อย่างทันที ซึ่งนี่ก็คือความลับที่ทำให้ S2000 เป็นรถสปอร์ตที่ขึ้นชื่อว่า ขับสนุก มากที่สุดคันหนึ่งเท่าที่โลกเคยมีมา

หลายคนอาจสงสัยว่า Honda S2000 มีเครื่องยนต์อยู่ด้านหน้าไม่ใช่เหรอ น้ำหนักที่ลงล้อหน้า...มันก็ต้องมากกว่าล้อหลังดิ ทำไมกลายเป็นว่า สมดุล ซะงั้น

ความจริงแล้ว ตำแหน่งเครื่องยนต์ของ S2000 นั้นจะถูกวางค่อนไปทางด้านหลัง ซึ่งเราเรียกตำแหน่งนี้ว่า Front-Mid(ฟร็อนท์-มิด) โดยการ ร่น เครื่องยนต์ไปทางด้านหลังนั้น จะช่วยให้สามารถกระจายน้ำหนักไปสู่ล้อหลังได้มากขึ้น และช่วยให้สามารถรักษาสมดุลน้ำหนักแบบ 50:50 ได้นั่นเอง

ห้องเครื่องของ S2000 ผูกโบ และติดอินเตอร์แบบ V-Mount

บทความแนะนำ เทอร์โบชาร์จเจอร์ คืออะไร

บทความแนะนำ ตำแหน่ง อินเตอร์ นั้น ...สำคัญไฉน

นอกจาก Honda แล้ว ค่ายรถยนต์สัญชาติเยอรมันอย่าง BMW ก็อาศัยหลักการเดียวกันนี้ พัฒนารถยนต์ที่มีการกระจายน้ำหนักที่สมดุล เพื่อให้ตัวรถมีการตอบสนองที่ดีและขับสนุกอย่างที่รถสปอร์ตเปิดประทุน...ควรจะเป็น

BMW Z4 Roadster

 

ความจริงแล้ว ถ้าเปรียบเทียบในเชิงสมรรถนะ การกระจายน้ำหนักแบบ 50:50 ไม่ใช่ การกระจายน้ำหนักที่ดีที่สุดนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือว่า กระจายน้ำหนักแบบ 50:50 นี้ จะทำให้ขับ สนุก แต่ไม่ได้ทำให้รถเข้าโค้งได้เร็วขึ้น ซึ่งถัดจากบทความนี้ เดี๋ยวผมจะพาไปเจาะลึกทฤษฏีการกระจายน้ำหนัก (Weight Distribution) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกับสมรรถนะของตัวรถอย่างมหาศาล โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจเลยครับผม

 

5. Honda S2000 มีรุ่นพิเศษมากถึง 6 รุ่น

ถึงแม้รถสปอร์ตจากค่าย Honda คันนี้ จะไม่มีโอกาสได้ติดยศ Type R เหมือนอย่าง Civic และ Integra แต่ก็ไม่ต้องน้อยใจไปนะครับ เพราะว่า Honda S2000 มีรุ่นพิเศษให้เลือกถึง 6 รุ่น!!

1. Type V (ขายที่ประเทศญี่ปุ่น ปี 2000)

รุ่นพิเศษรุ่นแรกถูกขายในประเทศญี่ปุ่น มีชื่อว่า Type V โดยได้รับการอัพเกรดพวงมาลัยให้เป็นแบบแปรผัน (Variable Gear Ratio Steering : VGS) โดยอัตราทดของพวงมาลัยจะสามารถเปลี่ยนผันตามความเร็วที่กำลังขับขี่ และนอกจากนั้นยังได้รับการการปรับปรุงช่วงล่าง (ช็อค-อัพ และ เหล็กกันโคลง) รวมไปถึงเฟืองท้ายเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับระบบ VGS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Honda S2000 Type V

 

2. Club Racer (ขายที่ประเทศอเมริกา ปี 2008)

เวอร์ชั่น Club Racer หรือเรียกย่อๆ ว่า CR เป็นเวอร์ชั่นที่ขายเฉพาะในตลาดอเมริกา และถูกผลิตเพียงแต่ 699 คันเท่านั้น

S2000 CR ได้รับการอัพเกรดโดยโฟกัสไปที่การขับในสนามแข่ง โดยการลดน้ำหนักและเพิ่มสมรรถนะ และการอัพเกรดรถในลักษณะนี้ ทำให้เรานึกถึงรถตระกูล Type R อย่าง Civic Type R และ Integra Type R ที่ถูกอัพเกรดจนแทบจะกลายเป็นรถแข่งอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เค้าจึงว่ากันว่า เวอร์ชั่น CR นี้แหละ คือ Honda S2000 Type R

Honda S2000 Club Racer

เวอร์ชั่น CR มาพร้อมกับพวงมาลัยที่มีอัตราทดเร็วขึ้น ช่วงล่างแบบเรซซิ่ง และยางซิ่งสมรรถนะสูง Bridgestone Potenza RE070 ส่วนยางหลังถูกเพิ่มความกว้างจาก 245/40R-17 (เวอร์ชั่นปกติ) เป็น 255/40R-17 (เวอร์ชั่น CR)

นอกจากนั้นยังมีแอโรพาร์ทรอบคัน ลิ้นหน้าและสปอยเลอร์หลังแบบใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพิ่มแรงกดได้ 70-80% เมื่อเทียบกับเวอร์ชั่นปกติ และจุดที่เปลี่ยนแปลงชัดที่สุดก็คือมีหลังคาแข็งที่ถอดออกได้ (Hard Top) ที่กลายมาเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของรุ่น CR

 

3. Type S (ขายที่ประเทศญี่ปุ่น ปี 2008)

ขณะที่เวอร์ชั่นสมรรถนะสูงอย่าง CR นั้น มีขายเฉพาะในประเทศอเมริกา (พวงมาลัยซ้าย) เพื่อไม่ให้สาวกชายยุ่นเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ Honda จึงได้อัพเกรดสมรรถนะของ S2000 ซึ่งเรียกว่า Type S เพื่อส่งขายที่ประเทศญี่ปุ่น โดยในเชิงสมรรถนะแล้ว Type S ของญี่ปุ่นก็แทบจะไม่ต่างกับรุ่น CR ที่ขายในอเมริกาเลย เพียงแต่เปลี่ยนตำแหน่งของพวงมาลัยจากซ้ายมาขวาเท่านั้นเอง

Honda S2000 Type S

โดยจุดที่แตกต่างจากเวอร์ชั่น CR นั้น ได้แก่ยางหลัง ของ CR เป็นยาง RE070 ขนาด 255/40R-17 แต่เวอร์ชั่น Type S ของญี่ปุ่นนั้น หน้ายางจะแคบกว่าโดยมีขนาด 245/40R-17

 

4. GT (ขายที่ประเทศอังกฤษ ปี 2009)

และแล้ว สาวก Honda แห่งแดนผู้ดีแดนอังกฤษก็ได้รับรุ่นพิเศษเช่นเดียวกัน ซึ่งชื่อว่ารุ่น GT โดยมีหลังคาแข็งมาให้พร้อมทั้งตัววัดอุณหภูมิอากาศภายนอกรถ

Honda S2000 GT

 

5. Ultimate Edition (ขายในยุโรป ปี 2009)

เวอร์ชั่น Ultimate Edition ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นรุ่นสุดท้ายก่อนจะปิดไลน์การผลิตไปในปี 2009 โดยมีบอดี้เป็นสีขาวที่เรียกว่า Grand Prix White ส่วนตกแต่งภายในนั้นถูกตกแต่งด้วยสีแดง และมาพร้อมกับหลังคาแข็งที่ถอดออกได้

Honda S2000 Ultimate Edition

 

6. GT Edition 100 (ขายที่ประเทศอังกฤษ ปี 2009)

GT Edition 100 เป็นรุ่นพิเศษที่ขายในประเทศอังกฤษ โดยถูกจำกัดการผลิตเพียงแต่ 100 คันเท่านั้น ส่วนรายละเอียดของตัวรถนั้นเหมือนกับรุ่น Ultimate Edition ที่ขายในยุโรปทุกประการ เพียงแต่ว่า S2000 ที่ขายในประเทศอังกฤษจะเป็นพวงมาลัยขาว

Honda S2000 GT Edition 100

 

ครบ 5 ข้อเป็นที่เรียบร้อย หวังว่าบทความนี้จะถูกใจสาวก Honda นะครับ ไว้เจอกันใหม่ในบทความต่อๆ ไป ซึ่งอาจจะเป็นบทความเกี่ยวกับ ทฤษฎีกระกระจายน้ำหนัก (Weight Distribution) หรือจะเป็นบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ก็สามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจ ของเราเลยครับผม

และนอกจากนั้น ท่านผู้อ่านยังสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์ หรือ บทความเชิงเทคนิคได้ที่ แฟนเพจของเราเช่นกันครับ

 

ขอบคุณครับ :)

เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

Image courtesy

Autoexpress.co.uk

Netcarshow.com

thehundreds.com

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...