เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

 

แน่นอนว่า สำหรับท่านผู้อ่านที่ชื่นชอบในกีฬามอเตอร์สปอร์ต ก็อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Heel and Toe (ฮีล แอนด์ โท) ไม่มากก็น้อย ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อของ เทคนิคการขับรถแข่ง ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดอีกเทคนิคหนึ่ง และในวันนี้เราจะไปทำความเข้าใจขั้นตอนการทำ Heel & Toe รวมไปถึงประโยชน์ของเทคนิคนี้กันครับ

Heel & Toe เป็นเทคนิคการเปลี่ยนเกียร์สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ซึ่งผมได้กล่าวไปแล้วว่าเทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ใช้กับการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในสไตล์ Daily Drive เพื่อเพิ่มอรรถรสการขับขี่ รวมไปถึงพัฒนาทักษะการควบคุมรถด้วยครับ

 

 

Heel & Toe มีชื่อเต็มว่า Heel & Toe Downshifting ซึ่งหมายความว่าการทำ Heel & Toe จะทำเฉพาะในตอนที่เปลี่ยนเกียร์ลง (Downshifting) โดยคำว่า Heel หมายถึง ส้นเท้า ส่วนคำว่า Toe หมายถึง หัวแม่โป้ง หรือปลายเท้านั่นเองครับ เพราะฉะนั้น Heel & Toe จึงหมายถึงการใช้ทั้งส้นเท้าและปลายเท้า เพื่อควบคุมเบรกและคันเร่งในเวลาเดียวกันนั่นเองครับ

 

เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคที่ต่อยอดมาจาก Rev-Marching Downshifting (เรฟ-แมทชิง ดาวน์ชิฟติ้ง) หรือ เรียกย่อๆ ว่า Rev-Matching ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ขณะเปลี่ยนเกียร์เพื่อที่ลดความเร็วนั่นเองครับ สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจเทคนิค Rev-Matching สามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่Rev-Matching Tutorial

ถ้าจะให้สรุปง่ายๆ การทำ Heel & Toe ก็คือ กระบวนการเบรก และทำ Rev-Matching ไปพร้อมๆ กัน นั่นเองครับ มาถึงย่อหน้านี้แล้ว ท่านผู้อ่านบางคนอาจจะนึกภาพยังไม่ออก เดี๋ยวลองไปดูขั้นตอนการทำ Heel & Toe แบบละเอียดในวิดีโอข้างล่างได้เลยครับ

 

วิดีโอ สาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำ Heel&Toe

 

ขั้นตอนการทำ Heel & Toe Downshifting

1. ใช้เท้าขวาเหยียบเบรกเพื่อลดความเร็ว

 

2. เหยียบคลัทช์และเปลี่ยนเกียร์

ขณะที่เท้าขวายังกดเบรกอยู่ ให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบคลัทช์ตามปกติ แล้วก็เข้าเกียร์ต่ำลงหนึ่งตำแหน่ง ยกตัวอย่างเช่น จากเกียร์ 4->3 หรือจาก 3->2 ครับผม หลังจากนั้น ให้เหยียบคลัทช์ค้างไว้ก่อน อย่าเพิ่งปล่อยคลัทช์

 

3. ใช้ส้นเท้าขวา (Heel) แตะคันเร่งเพื่อเร่งรอบเพิ่มขึ้น

ในขั้นตอนนี้ เราต้องกวาดส้นเท้าไปกดคันเร่ง โดยปลายเท้านั้นยังคงกดเบรกอยู่ ความยากอยู่ตรงที่ปลายเท้า (Toe) จะต้องกดเบรกให้คงที่ตลอดเวลา นั่นหมายถึงปลายเท้าที่กดเบรกต้องไม่ขยับไปตามส้นเท้าที่กดคันเร่ง และขั้นตอนนี้ก็คือขั้นตอนที่ยากที่สุดของเทคนิค Heel&Toe ครับผม

สำหรับคำถามที่ว่า จะต้องกดคันเร่งมากน้อยแค่ไหนนั้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเร็วรอบที่ใช้ รวมไปถึงเกียร์ที่เรากำลังจะเปลี่ยนครับ ซึ่งต้องใช้การสังเกตและการฝึกฝน จึงจะสามารถทำได้อย่างสมูทและไม่สะดุดครับ

 

4. ถอนคลัทช์ตามปกติ

หลังจากที่ใช้ส้นเท้าขวา กดคันเร่งจนรอบเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นแล้ว ให้ปล่อยคลัทช์โดยทันที อย่ารอจนกระทั่งรอบเครื่องตกลงมา เพราะจะทำให้รถเกิดอาการกระตุกครับ

 

5 กดคันเร่งเพื่อเร่งออกจากโค้ง

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเปลี่ยนเกียร์แล้ว (ถอนคลัทช์เสร็จแล้ว) ให้ย้ายเท้านขวามายังตำแหน่งคันเร่งเพื่อเลี้ยงคันเร่งขณะเข้าโค้ง และเตรียมพร้อมที่จะกดคันเร่งส่งรถออกจากโค้ง

 

กระบวนการทำ Heel&Toe นั้น จะรวดเร็วมากๆ ครับ สำหรับนักแข่งหรือว่าคนที่ฝึกจนชำนาญนั้น สามารถทำ Heel&Toe จบได้โดยใช้เวลาไม่ถึง 0.7 วินาทีเท่านั้นเอง

 

สำหรับประโยชน์ของเทคนิค Heel&Toe ก็จะมีดังนี้ครับ

1. ลดการถ่ายเทน้ำหนักของตัวรถ (Reduce Weight Transfer)

ประโยชน์หลักๆ ของการทำ Heel&Toe ก็คือการลดการถ่ายเทน้ำหนักจากหลังมาหน้า ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสมดุล (Balance) ให้กับตัวรถระหว่างการเปลี่ยนเกียร์ ข้อได้เปรียบข้อนี้มีประโยชน์มากๆ กับการขับรถแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะการเปลี่ยนเกียร์เพื่อเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ถ้าหากว่าเราไม่มีการทำ Heel&Toe (หรือ Rev Matching) น้ำหนักจะถูกถ่ายมาทางด้านหน้าอย่างทันที ส่งผลให้รถเกิดอาการเสียสมดุล อีกทั้งยังมีโอกาสทำให้ยางสูญเสียแรงยึดเกาะอีกด้วยครับ

 

2. ลดเวลาในการเปลี่ยนเกียร์ก่อนเข้าโค้ง

ปกติแล้ว ถ้าหากเราไม่ได้ทำ Heel&Toe ก่อนเข้าโค้ง เราจะต้องเบรกจนกระทั่งถึงความเร็วที่ต้องการ จากนั้นจึงเปลี่ยนเกียร์ให้ต่ำลง แต่การทำ Heel&Toe เป็นการเปลี่ยนเกียร์ไปพร้อมๆ กับการเบรก ซึ่งการทำทั้งสองอย่างในเวลาพร้อมนั้น จะช่วยลดเวลาได้อย่างมหาศาล ทำให้เราเหลือเวลาเพื่อเล็งไลน์ก่อนเข้าโค้งได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเองครับ

3. ลดความเค้นที่เกิดขึ้นกับระบบส่งกำลังและชุดคลัทช์

เนื่องจากว่าก่อนที่เราจะปล่อยคลัทช์นั้น เราได้ทำการเร่งรอบขึ้นมาเพื่อให้สัมพัทธ์กับความเร็วของตัวรถ การทำเช่นนี้จะทำให้ชุดคลัทช์ทำงานน้อยลง และภาระที่เกิดขึ้นระบบเกียร์ ก็จะน้อยลงเช่นกันครับ

 

 

ก็จบไปแล้วนะครับ สำหรับเทคนิคขการเปลี่ยนเกียร์ขั้นสูงอย่าง Heel&Toe ในครั้งต่อไป ผมจะพาไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งเทคนิคที่เรียกว่า Left-foot Braking (เบรกเท้าซ้าย) ซึ่งจะมีประประโยชน์อย่างไร และสามารถใช้ในสถานการณ์ไหนบ้างนั้น สามารถติดตามได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

 

เรียบเรียงโดยJoh Burut

 

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...