เรียบเรียงโดยJoh Burut

บทความนี้สนับสนุนโดยMotys Thailand

เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งสอนผมไว้ว่า... เครื่องยนต์หนึ่งเครื่อง...ก็เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตตัวหนึ่ง นั่นก็เพราะว่า ถ้าหากเราเปรียบเทียบระบบการทำงานของเครื่องยนต์และระบบกายภาพของสิ่งมีชีวิตแล้ว ...มันก็เหมือนกันยังกะ แพะกับแกะ !

และแน่นอนว่า การที่เราจะรักษาร่างกายสุขภาพกายให้ดี เราก็ต้องทราบ หน้าที่และความสำคัญ ของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ...ฉันใดก็ฉันนั้น การบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้คงไว้ซึ่งสมรรถนะสูงสุด เราก็ต้องเข้าใจ หลักการทำงาน ของระบบต่างๆ อย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกันครับ

สมอง = ECU

ระบบควบคุมที่ดี (Control Unit) หรือรู้จักกันในชื่อ ECU เป็นส่วนประกอบที่ขาดเสียมิได้ของเครื่องยนต์ ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะมีความแข็งแรงและสร้างแรงม้าได้มากมาย แต่ถ้าหากขาดซึ่ง ECU สมรรถนะสูงที่คอยควบคุมอย่างละเอียดแล้ว ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับ เครื่องจักร ที่ไร้ซึ่งความเสถียรและเอาแน่เอานอนไม่ได้

ระบบหายใจ = ระบบไอดี-ไอเสีย

อากาศที่เข้าเครื่องยนต์ต้องสะอาด และเพียงพอต่อความต้องการในทุกช่วงของการใช้งาน นอกจากนั้นแล้ว ทางเดินไอดีและทางเดินไอเสียก็ต้องถูกออกแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้การดูดไอดีและการคายไอเสียเป็นไปด้วยความ สะดวก ...ไม่โล่งมาก ไม่อั้นเกิน

ระบบไหลเวียนโลหิต =

อ้าว...แล้วระบบไหลเวียนโลหิตล่ะ จะเปรียบเทียบได้กับระบบอะไรดี อาจารย์ผมเอง...ท่านก็ไม่เคยบอกไว้ด้วยสิ เอางี้แล้วกัน ผมขอเปรียบเทียบระบบไหลเวียนโลหิตให้เป็น ระบบหล่อลื่นเครื่องยนต์ ก็แล้วกันนะครับ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เลือด ก็เปรียบได้กับ น้ำมันเครื่อง สินะ

น้ำมันเครื่องก็เปรียบได้กับเลือดที่อยู่ในตัวเรานี่แหละครับ มันมีหน้าที่หล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ไล่ตั้งแต่เสื้อสูบไปจนถึงฝาสูบ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ หล่อลื่น ชิ้นส่วนในเครื่องยนต์ นอกจากนั้นแล้ว น้ำมันเครื่องยังช่วยระบายความร้อน ลดการสึกหรอของเครื่องยนต์และช่วยทำความสะอาดชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ด้วยครับผม

สำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่ ความสำคัญ และประเภทของน้ำมันเครื่อง สามารถอ่านได้ที่น้ำมันเครื่องแบบธรรมดา, กึ่งสังเคราะห์ และสังเคราะห์แท้...แบบไหนดีกว่ากัน

เมื่อร่างกายขาดเลือด เมื่อเครื่องยนต์ขาดน้ำมันเครื่อง

ไม่ต้องบอกก็รู้ครับว่า ถ้าร่างกายคนเราขาดเลือดแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น ..คำตอบก็คือ กลับบ้านเก่าอย่างแน่นอนครับ เครื่องยนต์ก็เช่นเดียวกันครับ ถ้าหากว่าขาดซึ่งน้ำมันเครื่อง ก็เตรียมตัวยกเครื่องใหม่ได้เลย!

และในบทความนี้ผมจะพาไปศึกษาว่า จะเกิดอะไรขึ้น...ถ้าเครื่องยนต์ไม่มีน้ำมันเครื่อง! รวมไปถึงวิธีตรวจสอบและป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ของเรากลับบ้านเก่าก่อนวัยอันควร

ลองไปอ่านกันครับว่า เมื่อเครื่องยนต์ขาดน้ำมันเครื่อง หรือมีน้ำมันเครื่องไม่เพียงพอแล้ว จะเกิดอาการอะไรบ้าง อะไรจะพังก่อน อะไรจะพังทีหลัง ไปชมกันเลยครับ

อาการที่ 1 : เกิดเสียงดังจากแหวนลูกสูบ (Piston Rattling Noise)

เมื่อน้ำมันเครื่องมีไม่เพียงพอ หรือเรียกสั้นๆ ว่า น้ำมันเครื่องขาด อาการแรกที่เราจะสามารถรับรู้ได้ก็คือ เสียง ซึ่งเสียงดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดังขึ้นเรื่อยๆ

เสียงดัง...มาจากชิ้นส่วนไหน

ปกติแล้ว น้ำมันเครื่องจะทำหน้าที่สร้างฟิล์มบางๆ เพื่อป้องกันไม่ให้แหวนลูกสูบสัมผัสกับกระบอกสูบโดยตรง ถ้าหากว่าน้ำมันเครื่องขาด หรือว่ามีไม่เพียงพอ คราวนี้...ฟิล์มบางๆ ที่เคลือบอยู่รอบกระบอกสูบก็จะบางลงๆ จนในที่สุดก็ไม่มีชั้นฟิล์มอยู่เลย เป็นผลทำให้แหวนลูกสูบและกระบอกสูบสัมผัสกันโดยตรง และเมื่อแหวนลูกสูบได้รับการเสียดสีจนกระทั่งเสียหายถึงจุดหนึ่งแล้ว ถัดไปก็จะเป็นทีของ กระโปรงลูกสูบ ที่กลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายคนต่อไปครับ

และเมื่อเหล็กกับเหล็กเจอกันโดยตรง ก็ต้องเกิดเสียงดังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่ก็คือที่มาของเสียงดังที่จะดังขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังจะเกิดความร้อนและการสึกหรออย่างมหาศาล ทั้งตัวลูกสูบเองและกระบอกสูบด้วยครับ

น้ำมันเครื่องคุณภาพต่ำ ไม่สามารถสร้างชั้นฟิล์มได้อย่างสมบูรณ์

น้ำมันเครื่องคุณภาพสูง สามารถคงสภาพฟิล์มและยึดเกาะชิ้นส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ความหนาของฟิล์มต้องเพียงพอที่จะ ซีล กำลังอัดไม่ให้เกิดการรั่วไหล

อาการที่ 2 : ชาฟท์เริ่มละลาย (Overheating Bearings)

ชาฟท์ เป็นภาษาช่างของบ้านเราครับ หมายถึง แบริ่งก้านสูบ (Connecting Rod Bearing) หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ ชาฟท์ก้าน รวมไปถึง แบริ่งข้อเหวียง (Crankshaft Bearing) หรือที่เรียกว่า ชาฟท์อก นั่นเองครับ ซึ่งแบริ่งที่ทำมาจากโลหะผสมเหล่านี้ มีหน้าที่รองรับแรงที่เกิดจากการจุดระเบิดส่งผ่านมายังก้านสูบเพื่อไปหมุนเพลาข้อเหวี่ยง นอกจากนั้นแล้ว มันยังทำหน้าที่เป็นท่อลำเลียงน้ำมันเครื่อง เพื่อหล่อลื่นเพลาข้อเหวี่ยงอีกด้วย

ถ้าหากว่าน้ำมันเครื่องมีไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเกิดการอุดตันหรือว่าน้ำมันเครื่องพร่องก็ตาม จะส่งผลให้เพลาข้อเหวี่ยงและแบริ่ง สัมผัสกันโดยตรง ไม่ต้องเดาให้ยากครับว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เนื่องจากว่าเพลาข้อเหวี่ยงนั้นหมุนด้วยความเร็วเป็นพันๆ รอบ แน่นอนว่าความร้อนบริเวณแบริ่งก็จะเพิ่มอย่างมหาศาล จนกระทั่งเกิดการยุบตัว หรือที่เรียกกันว่า ชาร์ฟละลาย ซึ่งจะหมายถึงการเสียรูปของ ชาฟท์ก้าน (Connecting Rod Bearing) นั่นเองครับ

เมื่อแบริ่งเริ่มยุบตัวแล้ว ก็จะเกิด ช่องว่าง ระหว่างเพลาข้อเหวี่ยงและแบริ่ง ส่งผลให้เกิดอาการ คลอน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่แบริ่งได้รับความร้อนบวกกับความดันจนกระทั่งมันเริ่มเสียรูป และในตอนนี้เองที่เราจะได้ยินเสียง แต็กๆๆๆๆๆๆๆ คล้ายๆ กับเสียงเครื่องน็อคนั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุของ ชาฟท์ละลาย นั้น นอกจากจะเกิดจากน้ำมันเครื่องไม่เพียงพอแล้ว... คุณภาพ ของน้ำมันเครื่องก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นเดียวกันครับ เนื่องจากว่า บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีความดันสูงมาก (รับแรงกดจากเพลาข้อเหวี่ยง) น้ำมันเครื่องที่ด้อยคุณภาพอาจไม่สามารถต้านทานต่อความดันดังกล่าว และไม่สามารถสร้างชั้นฟิล์มได้อย่างเพียงพอ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ล่ะก็...อย่าลืมพกเบอร์รถสไลด์ไว้ด้วยนะครับ!

สำหรับรถที่มีการโมดิฟาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโมดิฟายที่เพิ่มกำลังอัดให้มีค่าสูงๆ ยกตัวอย่างเช่น การปาดฝาสูบ เปลี่ยนปะเก็น เปลี่ยนลูกสูบกำลังอัดสูง ซึ่งจะส่งผลให้แบริ่งรับภาระมากกว่าปกติ น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเครื่องที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเครื่องยนต์ที่ได้รับการโมดิฟายโดยเฉพาะ อย่างเช่น Motys M111ซึ่งถูกพัฒนาเพื่อการใช้งานในรถสมรรถนะสูง มีความโดดเด่นเรื่องการลดแรงเสียดทาน และเพิ่มการตอบสนองขณะรอบสูง ซึ่งเหมาะมากๆ กับเครื่องยนต์ N/A รอบจัดที่ต้องใช้ลากรอบเพื่อเค้นกำลังออกมาใช้งาน ...ถ้าใครเป็นสาย หายใจเอง ก็จัดไปอย่าให้เสียครับ

อาการที่ 3 : ลูกสูบติด (Piston Seizures)

ผมเชื่อว่า หลายๆ คนน่าจะทราบสาเหตุอาการลูกสูบติด ซึ่งโดยปกติแล้วจะเกิดขึ้นกับรถยนต์เทอร์โบที่ดันบูสต์สูงๆ ซึ่งจะมีอุณหภูมิการสันดาปที่สูงมากๆ ส่งผลให้ลูกสูบได้รับความร้อนมากเกินไป และเกิดการขยายตัวจนกระทั่งติดกับผนังกระบอกสูบ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น นอกจากเครื่องยนต์จะเสียหายแล้ว ก็ยังต้องปวดหัวกับการหาวิธีที่จะลูกสูบออกมาจากกระบอกสูบด้วยครับ

อาการลูกสูบติดนั้น นอกจากจะเกิดจากความร้อนจากการจุดระเบิดแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากการขาดน้ำมันเครื่องอีกด้วยครับ ถ้าหากว่าไม่มีชั้นฟิล์มมาหล่อลื่นระหว่างแหวนลูกสูบและกระบอกสูบแล้ว ก็จะส่งผลให้ลูกสูบสัมผัสกับกระบอกสูบโดยตรง เป็นผลให้เกิดเสียงดัง (อาการที่ 1) และเกิดความร้อนอย่างมากที่กระโปรงของลูกสูบ (Piston Skirt) และความร้อนนี้เองที่ทำให้ลูกสูบเกิดการขยายตัว จนกระทั่งติดอยู่ในกระบอกสูบและไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ในที่สุดครับ

สำหรับการลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการนี้ ก็มีหลายวิธีด้วยกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการจูนน้ำมันเอทานอล อย่างเช่น E85 ซึ่งน้ำมันประเภทนี้จะมีอุณหภูมิการเผาไหม้ที่ต่ำกว่าครับ รวมไปถึงการเลือกใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูง เนื่องจากว่าน้ำมันเครื่องแบบปกติทั่วไปนั้น ถึงแม้จะมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนครอบคลุม แต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อเจอความร้อนจัดๆ แล้ว จากที่เคยกลายเป็น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็น ได้โดยทันที ชั้นฟิล์มที่คอยเคลือบกระบอกสูบ ก็อาจจะ ระเหย ไปอย่างรวดเร็ว... (ศัพท์เชิงเทคนิคเค้าเรียกว่าปฏิกิริยา อ็อกซิเดชั่น นั่นเองครับ)

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครื่องยนต์ที่ได้รับการโมดิฟายอย่างหนัก หรือว่าเครื่องยนต์ที่ถูกประกอบขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ท่อนล่าง ค่าความฟิตติ้งหรือที่เรียกกันว่า เคลียร์แรนซ์ (Clearance) ของชิ้นส่วนต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ถือเป็นอะไรที่สำคัญอย่างยิ่ง หากว่าค่าความฟิตติ้งไม่ได้อยู่ในสเปคที่กำหนดไว้ ถ้าในกรณีนี้ ถึงแม้จะใช้น้ำมันเครื่องคุณภาพสูงแค่ไหน ก็มีโอกาสที่ชาฟท์จะละลายและลูกสูบติดได้อย่างแน่นอนครับ

เพราะฉะนั้น สำหรับรถยนต์เทอร์โบบูสต์หนักๆ ความร้อนสูงๆ แรงม้ามากๆ จึงควรใช้น้ำมันเครื่องที่ได้รับการออกแบบมาพิเศษ เพื่อทำงานขณะอุณหภูมิสูงๆ โดยเฉพาะครับ ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันเครื่อง Motys M114ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานในอุณหภูมิสูงจัด สามารถรักษาคุณสมบัติได้ย่างครบถ้วน ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานในช่วงรอบสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่วิ่งแช่เป็นระยะทางไกลๆ รวมไปถึงรถแข่งที่ต้องเค้นสมรรถนะเป็นเวลานานๆ อย่างเช่น รถแข่งประเภทเอนดูรานซ์ครับผม

นอกจากนั้นแล้ว M114ยังได้รับการออกแบบโดยใช้สารเอสเตอร์สูตรพิเศษและเข้มข้นขึ้น ทำให้ชั้นฟิล์มมีความหนากว่าปกติ ช่วยลดการสูญเสียกำลังอัดบริเวณแหวนลูกสูบและกระบอกสูบ จึงเหมาะอย่างมากสำหรับเครื่องยนต์กำลังอัดสูง นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยลดโอกาสที่ไอน้ำมันเครื่องจากห้องเพลาข้อเหวี่ยง (Blow-by Gas) ไหลย้อนขึ้นไปยังห้องเผาไหม้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของอาการน้ำมันเครื่องหายนั่นเองครับ

อาการที่ 4 : โทรเรียกรถสไลด์ได้เลย

หลังจากชาฟท์เริ่มละลาย และลูกสูบติดไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องพยายามสตาร์ทเครื่องเลยครับ ...เพราะมันกลับบ้านเก่าไปแล้วเรียบร้อย โทรเรียกรถสไลด์ได้เลยจ้า

สำหรับการซ่อมแซมเครื่องยนต์ที่เกิดอาการชาฟท์ละลาย ก็จะขึ้นอยู่กับระดับของความเสียหายเลยครับ ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่าแบริ่งละลาย...แต่ยังไม่เสียรูป (แบริ่งมีรอยเป็นริ้ว) ก็แค่เปลี่ยนแบริ่งใหม่ทั้งเซ็ท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องตรวจสอบลูกสูบ, แหวนอัด รวมไปถึงผิวของกระบอกสูบด้วยนะครับว่า...ได้รับความเสียหายหรือไม่ ถ้าหากพบว่าผิวกระบอกสูบได้รับความเสียหายอย่างหนัก ก็เตรียมงบไว้ยกเครื่องใหม่ได้เลยครับ!

เอาล่ะครับ ถ้าหากว่าท่านผู้อ่านยังนึกภาพไม่ออกว่า ...วาระสุดท้ายของเครื่องยนต์ที่เกิดอาการขาดน้ำมันเครื่องจะเป็นอย่างไร ลองไปชมคลิปวิดีโอข้างล่างครับ

คลิปที่ว่านี้ เป็นคลิปของรายการการ Fifth Gear ซึ่งได้นำเอารถยนต์คันหนึ่งมาถ่ายน้ำมันเครื่องออกจนหมด จากนั้นก็เอาไปขับทั้งๆ ที่ไม่มีน้ำมันเครื่องสักหยดเลย!! ลองไปชมครับว่า รถผู้น่าสงสารคันนี้ จะสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลแค่ไหน...ก่อนที่เครื่องยนต์จะลาโลกกลับบ้านเก่าไปเสียก่อน

วิดีโอ - Driving A Car With No Oil #TBT - Fifth Gear

สำหรับบทความนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้เกี่ยวกับระบบหล่อลื่นและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และอย่าลืมตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอนะครับ เผื่อว่าน้ำมันเครื่องพร่อง-น้ำมันเครื่องหาย จะได้รีบหาสาเหตุและแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมด้วยครับผม

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์ หรือบทความอื่นๆ ได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

บทความนี้สนับสนุนโดย Motys Thailand

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...