เรียบเรียงโดยJoh Burut

ผมเชื่อเหลือเกินว่า ทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้ ต้องรู้จักสุดยอดรถแข่งทางเรียบของโลกอย่าง Formula 1 ....หลายคนอาจจะมองว่า การแข่งขันรถแข่ง F1 เป็นแค่เพียงมอเตอร์สปอร์ตที่ผลาญเงิน-ผลาญงบประมาณ ขายโฆษณา-ล่าสปอนเซอร์ เรียกได้ว่าเป็นกีฬาที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดนอกจาก ความบันเทิง ....แต่ผมจะบอกให้ว่า คุณกำลังคิดผิดถนัด! สิ่งที่ผมกำลังจะพูดก็คือ... การแข่งขัน F1 นี่แหละ... คือ ขุมทรัพย์ทางเทคโนโลยี ที่มีมูลค่ามากที่สุดแห่งวงการอุตสาหกรรมรถยนต์!

เชื่อหรือไม่ว่า รถแข่งสูตรหนึ่งที่เกิดมาเพื่อวิ่งแข่งกันเหล่านี้ ...ได้มอบ มรดกทางเทคโนโลยี มาให้แก่เหล่าไฮเปอร์คาร์, ซุปเปอร์คาร์ รวมไปถึงรถบ้านๆ ที่เราขับกันอยู่ทุกวันนี้ด้วยนะครับ!

การแข่งขัน Formula-E ปี 2016

หืม...จริงเหรอ รถของฉันมีเทคโนโลยีของรถแข่ง F1 ด้วยเหรอ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ระบบอัดอากาศหรือที่เรียกว่า เทอร์โบ นั้น ได้ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากรถแข่ง F1 ตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นจึงได้มีการนำมาประยุกต์ใช้กับรถยนต์อย่างแพร่หลาย นอกจากนั้นแล้ว ...เกียร์ออโต้ รวมไปถึง เกียร์คลัชคู่ (Dual-clutch Transmission) ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นมรดกทางเทคโนโลยีจาก F1 เช่นกัน หรือแม้แต่ระบบวาล์วแปรผันชื่อดังของ HONDA อย่าง VTEC ก็ล้วนแล้วแต่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากสังเวียนรถแข่งสูตรหนึ่งด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น รถยนต์บ้านๆ ที่เราใช้อยู่กันทุกวันนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นญาติห่างๆ ของรถแข่ง Formula 1 อย่างไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด

รถแข่ง Formula-1 ของทีม Renault

รถแข่ง Formula-E ของทีม Renault

ในปัจจุบันนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก กำลังเบนเข็มทิศการพัฒนาไปที่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า EV (Electric Vehicle) เรียกได้ว่ารถยนต์ทั่วทั้งโลกกำลังกลายพันธุ์ไปอย่างช้าๆ จากที่เคยบริโภคน้ำมันเป็นอาหาร ก็มีรถยนต์บางกลุ่มบางเผ่าที่ได้เอา ไฟฟ้า มาเป็นอาหารเสริม อย่างเช่นพวกฝูง ไฮบริด เป็นต้น

ขณะที่รถยนต์ทั่วโลกกำลังกลายพันธุ์เป็นรถไฟฟ้า แต่ทว่า...รถแข่ง F1 ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของรถยนต์ยุคนี้ ไม่ได้มีทีท่าว่าจะกลายพันธุ์แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ในตอนนี้ เรากำลังมองหา บรรพบุรุษ คนต่อไป ผู้ที่จะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งไฟฟ้า ให้กับเหล่ารถยนต์ EV ...ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงรถแข่ง Formula E นั่นเอง

วิดีโอ ไฮไลท์การแข่งขัน Foumula E (2016 Mexico ePrix)

Formula E เป็นการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูล่า (รถแข่งล้อเปิด) ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ซึ่งได้เริ่มจัดการแข่งขันอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2014 โดยประเดิมสนามแรกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และได้จัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และในวันนี้ ผมก็จะพาไปทำความรู้จักกับรถแข่งฟอร์มูล่าสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราไปเริ่มด้วยหัวข้อมอเตอร์ไฟฟ้ากันดีกว่า...

มอเตอร์ไฟฟ้าและระบบส่งกำลัง

รถแข่ง Formula E ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลัง 200-กิโลวัตต์ หรือมีแรงม้าประมาณ 270-แรงม้า ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์เบาหวิว ที่หนักประมาณ 800-กิโลกรัมเท่านั้นเอง ส่งผลให้ Formula E ทะยานจาก 0-100 กม/ชม ภายในเวลาเพียง 3-วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ประมาณ 140 ไมล์ต่อชั่วโมงครับผม (หรือประมาณ 225 กม/ชม) มอเตอร์ไฟฟ้าถูกติดตั้งไว้ที่ด้านหลังของคนขับ ส่งกำลังผ่านเกียร์ซีเควนเชียล 5-สปีด ถ่ายทอดกำลังไปยังยางคู่หลัง โดยมีสปอนเซอร์ยักษ์ใหญ่คือ Michelin นั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแข่งขันนั้น รถแข่ง Formula E จะถูกจำกัดให้มีแรงม้าเพียงแค่ 200-แรงม้าเท่านั้น โดยแรงม้าที่เหลือนั้นจะได้รับอนุญาตให้ใช้ก็ต่อเมื่อทีมแข่งได้รับคะแนนโหวตจากแฟนคลับทั่วโลกมากที่สุด ซึ่ง Formula E เรียกระบบการโหวตเพื่อเพิ่มกำลังรถแข่งว่า แฟนบูสต์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ ระบบแฟน-บูสต์ (Fan Boost) )

ในฤดูกาลแรกของการแข่งขันนั้น McLaren ค่ายรถยนต์ซุปเปอร์คาร์สัญชาติอังกฤษ ได้รับเลือกให้เป็นผู้พัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับรถแข่ง Formula E โดย McLaren ได้นำมอเตอร์ไฟฟ้าที่อยู่ใน McLaren P1 ไฮเปอร์คาร์สายพันธุ์ไฮบริดมาใช้เป็นพื้นฐานและพัฒนาต่อยอดให้เหมาะกับการแข่งขัน Formula-E

อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลถัดๆ ไปนั้น ทาง FIA มีนโยบายให้แต่ละทีม สามารถเลือกใช้มอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างอิสระ รวมไปถึงชุดเกียร์ ระบบหล่อเย็น ก็สามารถเลือกใช้ได้อย่างอิสระเช่นกัน

นักแข่งต้องใช้รถแข่งทั้งหมด 2 คัน เพื่อแข่งจนจบการแข่งขัน

ลองนึกถึงการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน โอกาสที่จะได้รับชัยชนะนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับทักษะของนักแข่งและสมรรถนะของรถแข่งแล้ว... เวลาในการเข้าพิท เพื่อเปลี่ยนยางและเติมน้ำมันก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว ความเป็นมืออาชีพของเหล่า Pit Crews (พิท ครูส์) จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะนำมาซึ่งชัยชนะ

ชาร์จแบตไม่ทัน เปลี่ยนคันเลยดีกว่า

แล้วสำหรับรถแบตอย่าง Formula E ล่ะ! มันไม่ใช้น้ำมันหนิ! มันต้องเข้าพิทหรือเปล่า! แน่นอนว่า รถแข่งไร้มลพิษอย่าง Formula E ก็ต้องมีการเข้าพิทด้วยเช่นกันครับ หลายคนอาจคิดในใจว่า รถแข่งพวกนี้ต้องเข้าไปชาร์จแบตแน่เลย แต่ถ้าเป็นอย่างงั้นจริง มีหวังได้รอกันเป็น ชม.ๆ แน่ๆ เลยครับ เพราะแบตเตอรรี่ ต้องอาศัยเวลาชาร์จนาน...แล้วด้วยเหตุนี้ Formula E จึงกำหนดให้แต่ละทีมใช้รถแข่งได้สองคัน นั่นหมายความว่าเมื่อแบตเตอรรี่ของรถแข่งคันที่ 1 ลดลงจนใกล้จะหมดแล้ว นักแข่งสามารถนำรถกลับพิท เพื่อเปลี่ยนคันใหม่ได้นั่นเองครับ

ระบบแฟนบูสท์ (Fan Boost)

แฟนบูสท์ ถือเป็นอีกหนึ่งความแปลกใหม่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตเลยทีเดียว เพราะว่ามันเป็นการทำให้สาวก Formula E ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินผลแพ้-ชนะของการแข่งขัน โดยที่แฟนคลับสามารถโหวตให้กับนักแข่งที่ตนเองชื่นชอบ สามารถทำการโหวตผ่านเว็ปไซต์ได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเริ่มให้โหวตก่อนการแข่งขันประมาณ 2 สัปดาห์ และนักแข่งที่ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด 3 คน จะได้รับการอนุญาตให้ใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 100 กิโลจูลส์ ซึ่งเรียกว่า บูสท์ (Boost) นั่นเองครับ

แฟนคลับดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

บูสท์ เป็นปุ่มกดเพื่อ รีด พลังงานจากแบตเตอรี่ ซึ่งจะสามารถใช้งานได้เพียงแค่ 5-วินาทีเท่านั้น (อารมณ์คล้ายๆ ปุ่มไนตรัสของเครื่องยนต์สันดาป หรือรู้จักกันในชื่อ NOS นั่นล่ะครับ) และเจ้าปุ่มมหัศจรรย์นี้ จะตกเป็นของนักแข่งที่ได้รับคะแนนการโหวตสูงสุดเพียง 3 คนเท่านั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งระบบที่สร้างสรรค์ และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้กับเหล่าแฟนคลับได้อย่างน่าสนใจ

บทความแนะนำ หลักการทำงานของ NOS

เอาล่ะครับ มาถึงบรรทัดนี้ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านน่าได้รู้จักกับรถแข่ง Formula-E กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังไม่สามารถดึงดูดผู้ชมได้มากเท่ากับการแข่งขัน Formula 1 แต่การแข่งขัน Formula E ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทีมแข่งยักษ์ใหญ่ก็เริ่มที่จะเบนเข็มทิศมาที่ Formula E อย่างพร้อมเพรียง เพราะฉะนั้น ผมมองว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ Formula E จะกลายเป็นมอเตอร์สปอร์ตที่ได้รับความสนใจอันดับต้นๆ อย่างแน่นอนครับ

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจ Joh's Autolifeได้เลยครับผม

เรียบเรียงโดยJoh Burut

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...