ในวันนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ Torque Steer (ทอร์ค สเตียร์) ถือเป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับรถยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ...แล้วอาการ Torque Steer จะเป็นอย่างไร และมีสาเหตุมาจากอะไร ไปหาคำตอบกันครับ

นิยามของ Torque Steer

Torque Steer เป็นคำประสมระหว่าง Torque (ทอร์ค) และ Steer (สเตียร์) ซึ่งคำว่า Torque ก็หมายถึง แรงบิด จากเครื่องยนต์นั่นแหละครับ ส่วนคำว่า Steer นั้น หมายถึงระบบขับเลี้ยว เพราะฉะนั้น Torque Steer ก็เลยหมายถึง แรงบิดจากเครื่องยนต์ที่ส่งผลกระทบกับระบบขับเลี้ยวนั่นเอง

อาการของ Torque Steer

Torque Steer จะทำให้รถเปลี่ยนทิศทางในขณะที่เร่งออกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่กดคันเร่งหนักๆ รถจะเป๋ไปทางซ้าย หรือไม่ก็ขวา ซึ่งอาการนี้ เกิดขึ้นมาจากการที่เครื่องยนต์กระจายแรงบิด อย่างไม่เท่ากัน ไปที่ล้อซ้ายและล้อขวาครับ โดย Torque Steer จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า (ที่มีเลย์เอาท์เครื่องยนต์เป็นแบบ วางขวาง หรือ Transverse Engine)

การกระจายแรงบิดที่ไม่เท่ากัน เป็นผลให้เกิด Torque Steer

นอกจากนั้นแล้ว ความรุนแรงของ Torque Steer ยังขึ้นอยู่กับ แรงบิด ที่เครื่องยนต์สามารถสร้างได้ด้วยครับ นั่นหมายความว่า ถ้ารถคันไหนมีเครื่องยนต์ที่สร้างทอร์คได้เยอะ รถยนต์คันนั้นก็จะมีอาการ Torque Steer ที่รุนแรงกว่า รถยนต์ที่มีแรงบิดน้อยกว่านั่นเองครับ

วิดีโอ - สาธิตอาการของ Torque Steer (Joh's Autolife)

สาเหตุของ Torque Steer

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Torque Steer ก็มีหลายสาเหตุ เริ่มตั้งแต่ ความดันลมยางซ้าย-ขวา มีค่าไม่เท่ากัน รวมไปถึงแรงยึดเกาะของล้อซ้าย-ขวา ไม่เท่ากัน (ยางสึกหรอไม่เท่ากัน) ซึ่งปัจจัยทั้งสองอย่างที่ผมได้กล่าวมานี้ ถือเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ เพียงเท่านั้น

เลย์เอาท์ของรถยนต์ที่วางเครื่องยนต์ไว้ด้านหน้า ในแนวขวางตัวรถ (Transverse Front-engine)

ส่วนสาเหตุหลักๆ ของอาการ Torque Steer นั้น มาจาก ความยาวเพลาขับ ที่ไม่เท่ากัน ของล้อซ้าย-ขวา ซึ่งลักษณะของเพลาที่ไม่เท่ากันนี้จะปรากฏอยู่ในรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์อยู่ที่ด้านหน้าและขับเคลื่อนล้อหน้า (Front-engine Front-wheel drive หรือเรียกย่อๆ ว่า FF) โดยทั่วไปแล้วรถยนต์ประเภท FF จะมีการวางเครื่องยนต์ในแนวขวางของตัวรถ (Transverse engine) และด้วยตำแหน่งของเครื่องยนต์นี่เองที่ทำให้เพลาขับซ้าย-ขวา มีความยาวที่ ไม่เท่ากัน อย่างเลี่ยงไม่ได้ (ดูรูปภาพข้างล่างประกอบ)

การวางเครื่องยนต์แบบ Transverse จะมีเพลาขับซ้าย-ขวา ที่มีความยาว "ไม่เท่ากัน"

ในเชิงของสมรรถนะการขับขี่แล้ว Torque Steer ควรจะมีปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนั้น การที่รถยนต์มี Torque Steer น้อยกว่า ยังทำให้รถสามารถออกตัวได้อย่างเป็นเส้นตรง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่

เราสามารถลดอาการ Torque Steer ได้อย่างไร

แน่นอนว่า Torque Steer เป็นอาการที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นโดยสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตาม Torque Steer ก็เปรียบเสมือนเป็นคำสาปที่ไม่มีวันลบล้างได้อย่างสมบูรณ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า) แต่ข่าวดีก็คือว่า...เราสามารถลดปริมาณ Torque Steer ให้น้อยลงได้ โดยใช้วิธีการเหล่านี้

1. เช็คความดันลมยาง และปรับตั้งมุมล้ออย่างเป็นประจำ

ความดันลมยางของล้อซ้าย-ขวา (ของล้อขับเคลื่อน) ควรมีค่าเท่ากัน นอกจากนั้นแล้ว การปรับตั้งมุมล้ออย่างเป็นประจำก็จะสามารถช่วยลดอาการ Torque Steer ได้ครับ

2. ปรับเซ็ทช่วงล่างเพื่อแก้อาการ Torque Steer

เราสามารถปรับเซ็ทช่วงล่าง ทั้งความแข็ง-อ่อนของสปริง ความหนืดของช็อค-อัพ รวมไปถึงความสูง-เตี้ยของรถยนต์เพื่อ หักล้าง ปริมาณของ Torque Steer ให้มีค่าน้อยลง

3. ติดตั้ง Intermediate Shaft

สำหรับการติดตั้ง Intermediate Shaft หรือที่เรียกว่า เพลาคั่น ถือเป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีใครทำครับ เพราะว่าต้นทุนในการโมดิฟายประกอบกับความยุ่งยากในการติดตั้ง เพลาคั่นจะทำหน้าที่ถ่านแรงบิดจากเฟืองท้ายไปที่เพลาขับอีกทีหนึ่ง โดยการติดตั้งเพลาคั่นจะส่งผลทำให้ความยาวของเพลาขับซ้าย-ขวา มีความยาวเท่ากัน ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยลดปริมาณ Torque Steer ได้อย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม มีรถยนต์บางรุ่นที่ได้ทำการติดตั้งเพลาคั่นมาตั้งแต่โรงงาน Fiat 500 Abarth เป็นรถยนต์ FF ที่ได้รับการออกแบบให้มีเพลาขับซ้าย-ขวา มีความยาวเท่ากัน เพื่อลดอาการ Torque Steer นั่นเองครับ

Fiat 500 Abarth ได้รับการติดตั้ง Intermediate Shaft มาตั้งแต่โรงงาน

สำหรับบทความนี้ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้นะครับ หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อย โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจ Johs Autolifeเลยครับผม นอกจากนั้นยังสามารถรับชมวิดีโอความรู้ยานยนต์ได้โดยตรงที่YouTube : Johs Autolife

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...