เรียบเรียงโดย Joh Burut

 

 

ในบทความนี้ ผมจะพูดถึงหลักการเซ็ทอัพช่วงล่างในแง่ของสมรรถนะเป็นหลักนะครับ ซึ่งเนื้อหาในบทความนี้เป็นเพียงแค่ความรู้ระดับพื้นฐานเพียงเท่านั้น โดยหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความเข้าใจและสามารถนำเอาความรู้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

สำหรับในบทความนี้ ผมจะใช้รูปภาพของรถแข่งล้อเปิด หรือรถแข่งฟอร์มูล่า มาประกอบบทความ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นนะครับ ซึ่งหลักการทั้งหมดในบทความนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับรถยนต์ทั่วไปได้แบบ 100% เลยครับ

 

 

การเซ็ทอัพช่วงล่าง...คืออะไร

หลายๆ คนที่ยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า ช่วงล่าง (Suspension) หรือ ระบบกันสะเทือน ก็อาจจะงงว่า...เราจะสามารถเซ็ทอัพ หรือปรับเปลี่ยนช่วงล่างได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจะมานิยามคำว่า เซ็ทอัพช่วงล่าง แบบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ กันครับ

การเซ็ทอัพช่วงล่าง คือ การปรับตั้งมุมล้อ การปรับความหนืดของช็อค-อัพ และการปรับความแข็ง-อ่อนของสปริง เพื่อเพิ่มสมรรถนะการยึดเกาะถนนให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับบทความตอนที่ 1 ของ พื้นฐานการเซ็ทอัพช่วงล่าง ผมจะโฟกัสไปที่การปรับตั้งมุมล้อเท่านั้นนะครับ...

 

ทำไมต้องเซ็ทอัพช่วงล่าง

วัตถุประสงค์ของการเซ็ทอัพช่วงล่าง ก็คือเพื่อให้ หน้ายาง (Tire Surface) สัมผัสกับพื้นแบบ 100% ในทุกสภาวะการขับขี่ ไม่ว่าจะเร่งหรือจะเบรก จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เมื่อยางสามารถสัมผัสกับผิวแทร็คได้อย่างเต็มที่แล้ว ก็จะส่งผลให้เกิด แรงยึดเกาะสูงสุด (Maximum Grip) โดยแรงยึดเกาะนี้จะช่วยให้รถแข่งสามารถเข้าโค้งได้เร็วขึ้น ทำให้เวลาต่อรอบได้ดีขึ้นนั่นเองครับ เพราะฉะนั้น เราสามารถสรุปได้ว่า ช่วงล่างที่ดี คือช่วงล่างที่สามารถดึงเอาสมรรถนะของยางมาใช้ได้อย่างสูงสุด โดยการทำให้หน้ายางสัมผัสพื้นมากที่สุด นั่นเองครับ

 

ตัวอย่างของช่วงล่างที่ ไม่ดี สามารถใช้สมรรถนะของยางได้เพียง 70%

 

ตัวอย่างของช่วงล่างที่ ดี สามารถใช้สมรรถนะของยางได้เต็มที่ 100%

 

และในบทความนี้ ผมก็จะพาไปทำความรู้จักกับ มุมล้อ ทั้งสามแบบ ซึ่งมุมล้อทั้ง 3 ประเภทนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเซ็ทอัพช่วงล่าง มุมแต่ละมุมนั้นคืออะไรบ้าง...แล้วมีผลอย่างไรกับรถบ้าง ลองไปทำความเข้าใจกันดูครับ

 

1. มุมแคมเบอร์ (Camber Angle)

มุมแคมเบอร์หมายถึงมุมที่วัดระหว่างแนวเส้นศูนย์กลางยาง (แนวตั้ง) กับเส้นตั้งฉากของถนน ถ้าหากมุมดังกล่าวมีค่าเป็นศูนย์แล้ว เราจะเรียกการเซ็ทอัพนี้ว่า Zero Camber หรือแคมเบอร์เป็นศูนย์นั่นเองครับ แต่ถ้าหากว่าล้อมีการทำมุมกับเส้นตั้งฉาก โดยที่ด้านบนของยางเอียงออกจากบอดี้ของตัวรถ เราจะเรียกว่า Positive Camber (แคมเบอร์เป็นบวก) และในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าด้านล่างของยางเอียงออกจากบอดี้ของตัวรถ เราจะเรียกว่า Negative Camber (แคมเบอร์เป็นลบ)

 

แคมเบอร์เป็นศูนย์

 

ปกติแล้วมุมแคมเบอร์จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนด แรงยึดเกาะ หรือที่เรียกว่า Grip เพราะฉะนั้น การปรับตั้งองศาแคมเบอร์จึงถือเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับรถแข่งและรถสมรรถนะสูง ที่ถูกออกแบบมาให้เข้าโค้งด้วยความเร็วสูงๆ

 

แคมเบอร์เป็นลบ

 

แคมเบอร์เป็นบวก

 

แล้วเซ็ทอัพแคมเบอร์แบบไหน...ถึงจะได้ Grip สูงสุด

ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะตอบคำถามข้อนี้อย่างมั่นใจว่า Zero Camber ซึ่งเป็นคำตอบที่ ผิด นะครับ! จริงอยู่ที่ว่าการเซ็ทแคมเบอร์ให้เป็น ศูนย์ นั้น...จะทำให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นได้อย่างเต็มที่ แต่ความจริงก็คือว่า การเซ็ทอัพแบบ Zero Camber จะทำให้ยางจะสัมผัสกับพื้นถนนแบบ 100% ก็ต่อเมื่อรถวิ่ง "ทางตรง เท่านั้นครับ

และแน่นอนว่าสำหรับรถบ้านๆ โดยส่วนใหญ่แล้ว เค้าก็จะเซ็ทอัพแคมเบอร์ให้มีค่าเป็น ศูนย์ มาตั้งแต่โรงงานเลยครับ แต่ทว่า...สำหรับรถแข่งที่ต้องสาดโค้งด้วยความเร็วสูงแล้วล่ะก็...มันมีอะไรซับซ้อนกว่านั้น!

 

 

โดยปกติแล้ว สำหรับรถแข่งประเภทเซอร์กิตการเซ็ทอัพแคมเบอร์ให้มีค่าเป็นลบ (Negative Camber) จะส่งผลให้เกิดค่า Grip มากที่สุดเหตุผลก็เพราะว่า เมื่อแคมเบอร์เป็นค่าลบแล้ว...ในระหว่างการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง แรงกระทำในแนวด้านข้างหรือที่เรียกว่า Shear Force (เชียร์ ฟอร์ซ) จะผลักให้ตัวรถเอียงไปในฝั่งตรงข้าม ซึ่งจะส่งผลให้ค่าแคมเบอร์มีค่าเพิ่มขึ้น (จากเป็นลบ ก็จะเข้าใกล้ค่าศูนย์มากขึ้น) ซึ่งจะทำให้หน้ายางสัมผัสกับพื้นแทร็คได้อย่างเต็มมากขึ้น ส่งผลให้เราได้ค่า Grip มากขึ้นนั่นเองครับ นอกจากนั้นแล้ว การเซ็ทอัพแคมเบอร์ให้เป็นลบยังส่งผลต่อความเสถียรของตัวรถในขณะวิ่งทางตรงด้วยความเร็วสูงอีกด้วยครับ

 

แล้วมุมแคมเบอร์...ควรจะเป็นเท่าไหร่ล่ะ

คำถามนี้ ก็ไม่ได้มีคำตอบตายตัวนะครับ เนื่องจากรถแต่ละคันนั้น มีความแตกต่างในเรื่องของโครงสร้างระบบกันสะเทือนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น มุมแคมเบอร์ ที่ดีที่สุด ของรถแต่ละคันจึงไม่เท่ากันครับ แต่มีอยู่วิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราได้มาซึ่ง มุมแคมเบอร์ที่ดีที่สุด นั่นก็คือการวัดอุณหภูมิของหน้ายางนั่นเองครับ

 

การวัดอุณหภูมิหน้ายาง สามารถบอกได้ว่า มุมแคมเบอร์ที่เราปรับตั้งอยู่นั้น...มีความเหมาะสมหรือไม่

 

ถ้าหากว่า อุณหภูมิฝั่งด้านใน ร้อนกว่า ด้านนอก (ดูภาพข้างบนประกอบ) แสดงว่าตอนนี้แคมเบอร์มีค่าน้อยเกินไป (ลบเยอะเกิน) ให้แก้โดยปรับตั้งแคมเบอร์ให้เป็น บวกมากขึ้น

ถ้าหากว่า อุณหภูมิผิวฝั่งด้านนอก ร้อนกว่า ด้านใน แสดงว่าตอนนี้แคมเบอร์มีค่าเยอะเกินไป (บวกมากเกิน) ให้แก้โดยปรับตั้งแคมเบอร์ให้เป็น ลบมากขึ้น

ถ้าหากว่า อุณหภูมิหน้ายาง มีค่าเท่ากันตลอด (ทั้งฝั่งด้านในและด้านนอก) แสดงว่า มุมแคมเบอร์ที่เราปรับตั้งนั้น สามารถใช้สมรรถนะของยางได้อย่างเต็มที่ นั่นหมายความว่า มุมแคมเบอร์ในตอนนี้ คือ มุมที่ดีที่สุดแล้ว สำหรับรถของเราครับ

 

2. มุมโท (Toe Angle)

มุมโท หมายถึงมุมที่วัดระหว่างแนวเส้นศูนย์กลางยาง (แนวตั้ง) กับทิศทางที่รถจะเคลื่อนที่นั่นเองครับ สำหรับมุมโทก็จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทเช่นเดียวกับมุมแคมเบอร์ นั่นก็คือ Toe-in, Toe-out และ Zero Toe (มุมโทเป็นศูนย์)

การปรับตั้งมุมโทนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเสถียร และการควบคุมของตัวรถ รวมถึงน้ำหนักของพวงมาลัยด้วยครับ ซึ่งการเซ็ทอัพมุมโท-อิน และโทเอาท์นั้น ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

มุมโท-อิน ด้านหน้าของล้อหุบเข้าหากัน

 

มุมโท-อิน (Toe-in) เรียกอีกอย่างว่า Positive Toe (โพสิทีฟ โท) หมายถึง การเซ็ทอัพให้ส่วนหน้าของล้อหุบเข้าหากัน โดยปกติแล้ว การเซ็ทอัพแบบนี้จะส่งผลให้รถมีความเสถียรในทางตรงที่เพิ่มขึ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือว่า มุมโท-อินจะบังคับให้รถจะวิ่งเป็นเส้นตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องของการควบคุมที่ความเร็วสูง และการเร่งออกจากโค้งนั่นเองครับ

อย่างไรก็ตาม การเซ็ทอัพมุมล้อให้เป็นโท-อินนั้น จะทำให้ตัวรถเปลี่ยนทิศทางได้ยากขึ้น (รถพยายามจะวิ่งเป็นเส้นตรงตลอดเวลา) เพราะฉะนั้น ตัวรถจะตอบสนองต่อพวงมาลัยได้ค่อนข้างช้า

 

มุมโท-เอาท์ ด้านหน้าของล้อหุบแยกออกจากกัน

 

มุมโท-เอาท์ (Toe-out) เรียกอีกอย่างว่า Negative Toe (เนกาทีฟ โท) หมายถึง การเซ็ทอัพให้ส่วนหลังของล้อหุบเข้าหากัน การเซ็ทอัพแบบนี้จะให้ผลลัพทธ์ที่ตรงกันข้ามกับโท-อิน นั่นหมายความว่า รถที่เซ็ทมุมล้อให้เป็นโท-เอาท์ จะสามารถเปลี่ยนทิศทางได้อย่างรวดเร็ว (หน้าไว) ซึ่งเหมาะสำหรับรถแข่งประเภทเซอร์กิตที่ต้องเข้าโค้งอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น ถ้าหากเซ็ทอัพให้มุมโท-เอาท์มีค่ามากเกินไป จะส่งผลให้รถขาดเสถียรภาพที่ความเร็วสูง ซึ่งเป็นอะไรที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

 

รถแข่ง F1 ของทีม Ferrari : หน้าไว + ท้ายจิก

ล้อคู่หน้า เซ็ทอัพให้เป็นแบบโท-เอาท์ เพื่อให้ หน้าไว ง่ายต่อการเข้าโค้ง

ล้อคู่หลัง เซ็ทให้เป็นแบบโท-อิน เพื่อให้ ท้ายจิก ขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง

 

3. มุมแคสเตอร์ (Caster Angle)

มุมแคสเตอร์ หมายถึงมุมที่วัดระหว่างแนวของแกนช็อคอัพ กับแนวแกนตั้งฉากของพื้นถนนครับ สำหรับมุมแคสเตอร์ก็จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทเช่นเดียวกับมุมโท นั่นก็คือ Zero-caster (แคสเตอร์เป็นศูนย์), Positive-caster (แคสเตอร์เป็นบวก) และ Negative-caster (แคสเตอร์เป็นลบ)

โดยปกติแล้ว มุมแคสเตอร์เป็นอะไรเราไม่ค่อยจะคุ้นหูสักเท่าไหร่ และมันยังเป็นมุมที่ปรับตั้งได้ยากมาก สำหรับรถบางรุ่นนั้น ไม่สามารถปรับตั้งได้เลยครับ โดยมุมแคสเตอร์จะมีผลหลักๆ เกี่ยวกับเสถียรภาพของตัวรถ รวมไปถึงน้ำหนักของพวงมาลัยด้วยครับ

 

มุมแคสเตอร์เป็นบวก

 

แคสเตอร์เป็นบวก หรือ Positive-caster จะช่วยให้ทำให้รถมีความเสถียรขึ้นเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูง แต่ถ้าหากมุมแคสเตอร์มีค่ามากเกินไปจะส่งผลให้น้ำหนักพวงมาลัยเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้ตัวรถตอบสนองต่อพวงมาลัยได้ช้าลงอีกด้วย

สำหรับรถแข่งที่สามารถปรับตั้งมุมล้อได้แบบอิสระ อย่างเช่น รถแข่งประเภทล้อเปิด รถพวกนี้จะเซ็ทอัพให้มุมแคสเตอร์มีค่าเป็นบวกนิดๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการวิ่งที่ความเร็วสูงอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นครับ

 

มุมแคสเตอร์เป็นลบ

 

สำหรับ มุมแคสเตอร์เป็นลบ หรือ Negative-caster นั้น จะทำให้รถเกิดความไม่เสถียรทั้งความเร็วต่ำและความเร็วสูง เรียกได้ว่าตัวรถนั้น พร้อมจะเลี้ยวออกจากแนวเส้นตรงตลอดเวลา เพราะฉะนั้น รถยนต์และรถแข่งส่วนใหญ่ จะหลีกเลี่ยงการเซ็ทอัพมุมแคสเตอร์ให้เป็นค่าลบครับ

 

ถึงแม้ว่านักแข่งจะเก่งระดับโลก แต่ถ้าหากช่วงล่างไม่สามารถสร้างแรงยึดเกาะให้กับรถได้อย่างเพียงพอ นั่นเท่ากับว่า สูญเปล่า

ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะสร้างแรงม้าได้เป็น 1,000 ตัว แต่ช่วงล่างไม่สามารถถ่ายทอดกำลังลงสู่พื้นได้อย่างเต็มที่ นั่นเท่ากับว่า สูญเปล่า

เพราะฉะนั้น ช่วงล่างจึงเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่จะนำมาซึ่งสมรรถนะของตัวรถ เพื่อใช้ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

 

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับบทความเรื่อง พื้นฐานการเซ็ทอัพช่วงล่าง ตอนที่ 1 หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย สำหรับตอนต่อๆ ไป เราจะทำความรู้จักกับ Ackerman Angle (แอคเคอร์มาน แองเกิล) รวมถึงไปถึง Scrub Radius (สครับ เรเดียส) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจเลยทีเดียวครับ โดยท่านผู้อ่านได้ที่ แฟนเพจ Johs Autolifeได้โดยตรงเลยครับ

 

ท่านผู้อ่านสามารถติดตาม ข่าวสารยานยนต์หรือ บทความอื่นๆได้ที่ แฟนเพจของเราเลยครับผม

 

ขอบคุณครับ :)

เรียบเรียงโดย Joh Burut

 

Get Connected | ติดต่อกับพวกเราได้ที่...